สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นแมงดา หรือต้นทำมัง ไม้หายาก ที่ควรอนุรักษ์

ต้นทำมัง หรือบางคนเรียกกันว่า แมงดาต้น หรือไม้แมงดา มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Litsea petiolata Hook. f. ชื่อภาษาอังกฤษเรียกกันทั่วไปว่า Thammang เหมือนที่คนไทยเราเรียกกันในทุกภาคของประเทศ มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นบริเวณใต้สุดของทวีปเอเชีย ไม่ห่างจากทางภาคใต้ของไทยเรา เป็นไม้ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้จักกันเท่าใดนัก ทั้งที่มีประโยชน์รอบด้าน โดยแต่เดิมนั้นเราจะสามารถพบเห็นได้ตามป่าธรรมชาติ ทั้งป่าดิบชื้น และป่าโปร่ง ที่มีความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยเรา แต่ในปัจจุบันหาได้ยากมาก จนถูกขึ้นทะเบียนเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข. จัดเป็นไม้ที่หายากจนเกือบจะสูญพันธุ์ อยู่ในกลุ่มไม้หวงห้ามพิเศษ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นไม้ดีมีคุณภาพ แต่เป็นไม้ที่หายากอีกด้วย จะตัดจะล้มโค่นไม่ได้และหากต้นไม้กลุ่มนี้มีอยู่ในที่ดินที่เราครอบครอง จะต้องเข้าติดต่อกับสำนักงานป่าไม้ใกล้บ้านเพื่อดำเนินการในลำดับถัดไป

ต้นทำมัง หรือที่เรียกว่าต้นแมงดาไม้ เป็นเพราะกลิ่นของเปลือกไม้สดๆ จะมีความฉุนคล้ายกลิ่นของแมงดาที่เป็นแมลงที่เราคุ้นกันดี จนถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูน้ำพริกต่างๆ เพื่อใช้แมงดานา โดยเฉพาะเมนูอาหารมังสวิรัติที่ต้องการกลิ่นหอมของแมงดานาในเมนูอาหาร ซึ่งสามารถใช้แล้วมีกลิ่นแรงไม่ต่างกัน และนอกจากนั้น ส่วนใบอ่อนของต้นทำมังก็ยังได้รับความนิยมนำมารับประทานสดๆ คู่กับน้ำพริก โดยทั้งใบ ผลและเปลือกไม้นั้นมีสรรพคุณช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการแน่นท้อง และใช้บำรุงโลหิตได้อีกด้วย ในแง่ของงานก่อสร้างบ้านเรือนนั้น ไม้ทำมังเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความแข็งแรง ทนทาน มอดหรือปลวกไม่สามารถทำลายได้ และหากไม้มีอายุเหมาะสมจะไม้โค้งงอ ทำให้นิยมนำมาแปรรูปเป็นไม้พื้นและไม้กระดาน และยังนำมาผลิตเป็นไม้ตีพริกเพื่อใช้ในการโขลกน้ำพริกเพราะเนื้อไม้มีกลิ่นของแมงดานานั่นเองครับ

แมงดาต้น หรือต้นทำมัง เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ประเภทไม้เนื้อแข็ง ที่มีลำต้นสูงระหว่าง 5 เมตร ไปจนถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพป่าที่ดำรงอยู่ว่าจะมีทรัพยากรเอื้อต่อการเจริญมากน้อยแค่ไหน ลำต้นตั้งตรง สีของเปลือกไม้มีสีเทาน้ำตาล ผิวของเปลือกไม้โดยส่วนใหญ่จะมีผิวเรียบ พบได้จำนวนน้อยมากที่มีผิวขรุขระ แตกร่อน กิ่งก้านแตกเป็นทรงพุ่มกว้างประมาณ 6 เมตร แตกใบอ่อนเป็นสีแดงน้ำตาลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียว ผลิดอกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งแก่ มีอายุตามธรรมชาติ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ยิ่งนับวันยิ่งหายากลงทุกที ดังนั้นเราควรช่วยกันอนุรักษ์กันด้วยนะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook