สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สะค้าน สมุนไพรเครื่องเทศเผ็ดร้อน

สะค้าน สมุนไพรแห่งป่าดิบชื้น รสชาติเผ็ดร้อน มักนำมาใช้เป็นทั้งสมุนไพรและอาหาร บางพื้นที่เรียก ตะค้านเล็กหรือตะค้านหยวก ในภาคเหนือ เรียก จั๊กค่านหรือจะค่าน  บ้างก็เรียก สมุนไพรหนาม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lao chili wood หรือเรียกว่า mai sakhaan  ทับศัพท์ภาษาลาวไปเลย เป็นพืชที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก มักพบในแถบเอเชีย เช่น เมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาะนิวกินี และไทย จัดเป็นพริกไทยดำพันธุ์หนึ่ง นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ที่ต้องการรสชาติเผ็ดร้อน  ในทางภาคเหนือจะจัดว่าเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีความหอมเป็นเอกลักษณ์และมีรสชาติเผ็ดซ่าที่ไม่ซ้ำใคร นิยมนำมาเติมในลาบเหนือ แกงอ่อม แกงโฮ๊ะ แกงแค และในน้ำพริกแกงของทางเหนือส่วนใหญ่จะเติมสมุนไพรจั๊กค่านนี้ไปด้วย ด้วยความที่สะค้านเป็นเครื่องเทศที่มีรสชาติร้อนแรง เผ็ดซ่าจนชาลิ้น คล้ายกับผงมะหล่า จึงทำให้เจริญอาหารและขับลมในกระเพาะอาหารได้ดี

นอกจากนั้น ส่วนต่างๆ ของพืชสะค้าน เช่น ลำต้นหรือเถา  ยังนำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพร ขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง บรรเทาอาการแน่นหน้าอก แก้อาการหอบหืด ลดไข้ บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย กระตุ้นให้เจริญอาหาร โดยการนำไปใช้เพื่อการรักษาโรคนั้นจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยที่ชำนาญเรื่องสมุนไพรเท่านั้น  เพราะการรักษานั้นมีทั้งแบบสมุนไพรเดี่ยวและสมุนไพรที่ต้องนำไปเข้าตำรับกับสมุนไพรชนิดอื่น และสมุนไพรแต่ละชนิดย่อมมีข้อควรระวังและข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น การนำสะค้านไปใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ตามตำรับยาเบญจกูล สำหรับลดอาอาการท้องอืด ตามบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ หรือจะเป็นตำรับยามหาจุลทิพย์ ในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ที่ใช้เพื่อแก้เส้นอัมพาต เป็นต้น

ลักษณะของต้นสะค้านจะเป็นไม้เลื้อย ชอบเกาะตามไม้ใหญ่ มีลำต้นเป็นเถาวัลย์ขนาดใหญ่ ลำต้นอวบสมบูรณ์ มีข้อปล้องเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า เปลือกของลำต้นไม่แข็ง เนื้อไม้มีสีขาวนวล เมื่อตัดขวางลำต้นออกเป็นแว่นๆ จะพบลายสีเข้มเป็นลักษณะวงกลมมีฟันจักรอบบริเวณระหว่างเปลือกไม้และเนื้อไม้ ตรงกลางลำต้นมีเส้นหนาคล้ายเส้นรัศมีอยู่โดยรอบ แต่ละพันธุ์จะมีลักษณะของใบและขนาดของใยที่แตกต่างกันไป ลักษณะรูปทรงของใบจะคล้ายคลึงกับใบของต้นพริกไทย ใบมีความหนาและเหนียว ออกดอกเป็นช่อสีเขียวอ่อนเกือบเหลือง เป็นช่อแบบรวงยาว ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากเรียงกันแน่น ผลสะค้านมีขนาดเล็กมาก ผลเป็นทรงรีคล้ายไข่ มีความกว้างเพียง 2-4 มิลลิเมตร และมีความยาวผลเพียง 3-6 มิลลิเมตร ผลมีสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีแดงแก่เมื่อผลสุกเต็มที่

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook