จังหวัดน่าน จัดเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ แต่จากการสำรวจพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านพบว่า ปัจจุบันได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลกระทบในแง่ลบโดยตรงแก่สภาพแวดล้อมเปลี่ยน เกิดการชะล้างพังทลายสูง อีกทั้งการปลูกพืชล้มลุกชนิดต่าง ๆ มักมีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาก ซึ่งล้วนแต่ส่งผลโดยตรงต่อสภาพพื้นราบ
ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการผลิตพืชอินทรีย์จึงได้กำหนดเป็นนโยบายหลัก แต่อย่างไรก็ดีการผลิตพืชอินทรีย์ให้ถูกต้องตามเกณฑ์การผลิตพืชอินทรีย์สากลมีข้อกำหนดหลายประการที่ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น ข้อกำหนดด้านเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ แหล่งน้ำที่จะใช้ ดินในแปลงปลูกพืชอินทรีย์ และแปลงปลูกจะต้องมีแนวกันชนจากแปลงปลูกพืชที่ใช้สารเคมี เป็นต้น ถึงแม้ว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมกันดำเนินการผลักดันการผลิตพืชอินทรีย์อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การปูพื้นฐานการผลิตพืชให้อยู่ในระดับปลอดภัยจากสารเคมีและสอดแทรกความรู้แก่เกษตรกรให้มีความเข้าใจในขั้นตอนที่จะผลิตพืชอินทรีย์ที่ถูกต้องน่าจะเป็นการเตรียมการที่จะผลิตพืชอินทรีย์ที่ถูกต้องตามหลักสากลได้ในอนาคตได้
ชาเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย ที่มีการปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้ชาพันธุ์พื้นเมืองซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ โดยจะกระจายอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ ที่สำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง และตาก สวนชาส่วนใหญ่ทางภาคเหนือจะเป็นสวนชาเก่าที่เกษตรกรเจ้าของสวนได้จากการถางต้นไม้ชนิดอื่นออกเหลือไว้แต่ต้นชาหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าต้นเมี่ยงไว้ ทำให้มีจำนวนต้นต่อไร่ต่ำและให้ผลผลิตใบชาสดในปริมาณที่น้อย ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ดังนั้น การที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกชาซึ่งเป็นพืชที่สามารถรักษาสภาพแวดล้อมได้ดีและมีอายุยืน ทดแทนการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ จึงจำเป็นต้องสร้างแปลงต้นแบบที่ดำเนินการตามหลักวิชาการที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรเกิดการยอมรับและลงมือปฏิบัติในที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนารูปแบบและวิธีการแปรรูปของโรงงานแปรรูปชาในจังหวัดน่าน ให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่าในปัจจุบัน เพื่อให้โรงงานรับซื้อยอดชาสดในราคาที่สูงขึ้น และถ้าหากโรงงานสามารถรับซื้อยอดชาสดในราคาสูง และเกษตรกรมีการจัดการสวนชาที่ถูกต้องและได้ผลผลิตสูง ย่อมเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรสนใจปลูกชาแทนพืชไร่ที่เป็นต้นเหตุของการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตพืช และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดน่านได้
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตสวนชาแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพื่อเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์” ที่มีนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สมพล นิลเวศน์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อปรับปรุงสวนชาเสื่อมโทรม ที่เป็นไปตามแนวทางการดำเนินการทางหนึ่งในกลยุทธ์ที่ 1 ตามแผนยุทธ์ศาสตร์ชา ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพการผลิต การตลาด และการแปรรูปของชาไทย เตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC โดยพัฒนาแปลงปลูกชาที่มีอยู่เดิม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชาเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันต่อไป โดยการนำผลงานวิจัยมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ เป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรและเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบต่อไป