การปลูกกาแฟอราบิก้าในประเทศไทยเรานั้นแรกเริ่มเดิมทีเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมาได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ปลูกในพื้นที่สูงเพื่อทดแทนการปลูกพืชที่มีอนุพันธุ์ออกฤทธิ์เสพติดโดยโครงการหลวง จนสามารถให้ผลผลิตได้ดีและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก จนมรการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น มีความต้านทานต่อโรคพืชมากขึ้น สายพันธุ์ที่นิยมปลูกมีด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์คาร์ติมอร์ พันธุ์เชียงใหม่ 80 ที่ได้รับการรับรองกรมวิชาการเกษตร และพันธุ์ H420/9 ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ โดยเกษตรกรผู้ผลูกกาแฟจะเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะลำต้นเตี้ย ข้อถี่ ให้ผลผลิตที่ที่มีรสชาติตอบโจทย์ตลาด ต้านทานโรคราสนิม ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งมากกว่า 400 กรัมต่อต้น
การปลูกกาแฟอราบิก้าในไทยเรานั้นนิยมสามารถทำได้ทั้งวิธีเพาะเมล็ดโดยเมล็ดนั้นจะต้องได้มาจากต้นแม่พันธุ์ที่ผ่านการคัดมาอย่างดี ข้อดีของวิธีการเพาะเมล็ดคือสามารถขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมาก ส่วนการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ แม้ว่าจะมีข้อดีในเรื่องของความแข็งแรงของต้นพืชและการเติบโตที่เร็ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของปริมาณการขยายพันธุ์ที่ขยายพันธุ์ได้น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณในการปลูกของแต่ละแปลงปลูกแลความประสงค์ของเกษตรกรผู้ปลูก
เมื่อทำการขยายพันธุ์แล้ว การปลูกต้นกล้ากาแฟอราบิก้าในแปลงปลูกส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะนิยมเว้นระยะห่างระหว่างแถวราว 2 เมตร โดย 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ 400 ต้น โดยนำต้นกล้าที่มีอายุราว 6-8 เดือนและแตกใบได้ราว 4 คู่ มาลงปลูกในหลุมที่ขุดไว้และรองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟสและปุ๋ยอินทรีย์ หากพื้นที่เพาะปลูกมีความลาดชัน ให้ปลูกตามแนวขวางของพื้นที่ลาดชัน โดยทำเป็นขั้นบันได เพื่อป้องกันหน้าดินเกิดการพังทลายและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงดินไม่ให้เกิดการชะล้างไปได้โดยง่าย
สำหรับการปลูกกาแฟอราบิก้าในพื้นที่ป่าธรรมชาติในไทยนั้น สามารถปลูกได้เพราะกาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงา แต่ควรมีการตัดแต่งกิ่งของต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมให้แสงแดดส่องลงมายังต้นกาแฟได้ ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการเพาะปลูกกาแฟมาก่อนนั้น หากจะทำการปลูกควรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นการเตรียมดิน โดยให้ทำการไถกลบต้นถั่วเพื่อใช้เป็นปุ๋ยสดบำรุงดินให้มีอินทรีย์วัตถุเหมาะแก่การปลูกกาแฟมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันควรปลูกพืชที่ให้ร่มเงาแก่ต้นกาแฟได้แซมตลอดทั้งแนว ให้เน้นปลูกพืชที่โตเร็วและมีความหลากหลาย เช่น แคฝรั่ง และกางหลวง เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : คู่มือการจัดการการผลิตกาแฟอะราบิกา, สถาบันวิจัยพืชสวน, กรมวิชาการเกษตร