หอยชักตีน หรือที่รู้จักกันในชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Laevistrombus canarium หรือ Strombus canarium และชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า dog conch ในประเทศไทยเรานั้นเรียกแตกต่างกันไป บ้างก็เรียกว่า “หอยสังข์กระโดด” หรือ “หอยสังข์ตีนเดียว” จัดเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ อยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว (gastropod mollusc) ในวงศ์ Strombidae หรือกลุ่มหอยสังข์ หอยชักตีนพบได้ในแถบอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่อินเดียและศรีลังกาจรดเมลานีเซีย ออสเตรเลีย และตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยมีบันทึกภาพประกอบในหนังสือตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17
เครดิตภาพ: Strombus canarium โดย Anders Sandberg | Wikimedia Commons | CC BY 2.0
เปลือกหอยชักตีนโตเต็มวัยจะมีสีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทองและสีเทา ลักษณะเด่นคือเปลือกจะขดเป็นวง ขอบปากของเปลือกจะบานออกและหนา ความยาวของเปลือกในตัวที่โตเต็มวัยอยู่ระหว่าง 2.9 – 7.1 เซนติเมตร ผิวของเปลือกหอยด้านนอกเรียบ มีเส้นเกลียวที่แทบจะมองไม่เห็นและร่องเล็ก ๆ ที่บางครั้งเกิดขึ้นที่ปลายของเปลือก เปลือกหอยชนิดนี้นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ชาวประมงพื้นถิ่นยังนำไปใช้เป็นตัวถ่วงน้ำหนักสำหรับอวนจับปลาอีกด้วย
หอยชักตีนมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับหอยสังข์ชนิดอื่นๆ โดยมีปากยื่นยาว ใช้หนวดรับความรู้สึก เท้าแข็งแรง มีฝาปิดเปลือกรูปเคียว ขณะเดียวกันก็พบว่ามีพฤติกรรมชอบมุดอยู่ใต้ทราย เคลื่อนตัวแบบก้าวกระโดด ถือว่าเป็นวิธีการเคลื่อนที่ที่ไม่เหมือนหอยทั่วไป โดยจะรับรู้อันตรายจากสัตว์ผู้ล่า เช่น หอยฝาเดียวที่กินเนื้อ ผ่านการรับกลิ่นและการมองเห็น แล้วจะกระโดดถี่ขึ้นเพื่อทำการหลบหนี
หอยชักตีนมักอาศัยอยู่บริเวณใต้ทะเลที่เป็นโคลนและทรายที่มีตะกอนที่อุดมไปด้วยสารอินทรีย์ มีสาหร่ายและหญ้าทะเล เมื่อฝังตัวแล้ว มักจะเห็นส่วนบนของเปลือกโผล่พ้นพื้นทราย พบได้ทั้งบริเวณชายฝั่ง มักพบบริเวณเกาะขนาดใหญ่และชายฝั่งทวีปมากกว่าเกาะขนาดเล็ก พบได้ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งไปจนถึงเขตใต้น้ำ ตั้งแต่บริเวณน้ำตื้นจนถึงความลึก 55 เมตร มักพบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่
เนื้อของหอยชักตีนสามารถรับประทานได้ เป็นอาหารหลักของชาวบ้านตามชายฝั่งทะเล และมีการจับในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในของดีขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ด้วยรสชาติที่ถูกปากทำให้กลายเป็นหอยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จนทำให้เกิดการจับหอยชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ปริมาณหอยชักตีนตามธรรมชาติลดลง หาตัวที่มีขนาดใหญ่ได้น้อย จึงได้มีการรณรงค์ให้อนุรักษ์ทั้งหอยชักตีนและแหล่งอาหารสำคัญของหอย อย่างหญ้าทะเลและสาหร่าย โดยสนับสนุนให้งดจับ งดซื้อขายและงดบริโภคหอยชักตีนที่มีขนาดต่ำกว่า 6 เซนติเมตร เพราะหอยชักตีนมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล ทั้งในฐานะผู้กำจัดสาหร่ายและเศษซากอินทรีย์ และในฐานะแหล่งอาหารสำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึงมนุษย์ การอนุรักษ์ประชากรหอยชักตีนจึงมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของมนุษย์