สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การบูรณาการระบบ GIS กับแบบจำลอง HEC RAS เพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่

ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำของประเทศไทยจึงส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในน้ำต้นทุนเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น ความเป็นอยู่ การเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำต้นทุนดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับกับความต้องการได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังประสบปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม เกิดการชะล้างพังทลายของดิน ภัยจากโคลนถล่มในพื้นที่ต้นน้ำ  และเกิดน้ำหลากท่วมในพื้นที่กลางน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศที่รุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ลำน้ำสายหลักมีขนาดที่เล็กลง เนื่องจากการบุกรุกลำน้ำ ทำให้กระทบต่อคุณภาพชีวิตและการผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ กำหนดขึ้นโดยยึดหลักการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน แนวนโยบายของรัฐบาล และทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ทั้งการจัดการป่าต้นน้ำ การจัดหาน้ำ การป้องกันและเตือนภัยน้ำแล้งและน้ำท่วม การจัดการน้ำเสีย ครอบคลุมการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ทั้งผิวดินและบาดาล แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำในไร่นา แก้มลิงและฝายชะลอน้ำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทานและประสิทธิภาพการกระจายน้ำ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในและระหว่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพการให้บริการน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่มีมาตรฐานสากล การส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลความมั่นคงด้านน้ำและการพยากรณ์น้ำ

จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมามีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำจึงมีความสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมามีแหล่งน้ำที่สำคัญที่สามารถเก็บกักน้ำรวม 935.4 ล้าน ลบ.ม. แต่ในฤดูฝนบางพื้นที่เกิดน้ำท่วม ในฤดูแล้งของปีเดียวกันได้เกิดภัยแล้ง ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งผลที่ตามมาคือ แม่น้ำสายหลักถูกบุกรุกจากการกระทำของมนุษย์และจากธรรมชาติ

ดังนั้น สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การบูรณาการระบบ GIS กับแบบจำลอง HEC RAS เพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ขนาดใหญ่” โดยมี ผศ.ดร.ปรียาพร  โกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลแม่น้ำสายหลัก หน้าตัดแม่น้ำ และอาคารชลศาสตร์ที่สำคัญ ด้วยระบบ Geography Information System (GIS) ทำการศึกษาศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ ลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำเชียงไกร ลำสะแทด ลำปลายมาศส่วนล่าง และแม่น้ำมูล รวมทั้งกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมของลำน้ำสายหลักในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดยใช้แบบจำลอง HEC RAS version 5 ในการวิเคราะห์หาศักยภาพการระบายน้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ที่รอบปีการเกิด 2-5-10-25-50 และ 100 ปี หรือที่รอบปีการเกิดสูงสุดที่เคยเกิดขึ้น ทั้งกรณีมีโครงการมาตรการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและไม่มีโครงการ ตลอดจนจัดทำแบบแผน/แนวนโยบาย/แนวทางในการบริหารจัดการน้ำและการจัดการพื้นที่ เพื่อป้องกัน รองรับ และแก้ปัญหาด้านอุทกภัย เพื่อให้เกิดการรักษาฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ สร้างสมดุลของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความมั่นคง สมดุล และยั่งยืนสืบต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook